ข้าวพื้นเมือง เรื่องของสุขภาพ...


      ผมรู้สึกโชคดี ที่ได้รู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับข้าว จากที่ไม่เคยรู้ ทั้งที่เรากินข้าวอยู่ทุกวันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าข้าวเมืองไทยมีอยู่ตั้งเป็นหมื่นเป็นแสนพันธุ์ให้ เราลองนึกชื่อข้าวมาสัก ๑๐ พันธุ์ ก็ยังนึกไม่ออกเลยใช่ไหม เพิ่งรู้ครับว่า ข้าวที่นำมาทำขนมจีนได้อร่อยที่สุดคือ “ข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ” เพราะจะได้เส้นที่เหนียวนุ่ม แต่ถ้าจะทำสาโทให้ได้รสชาติต้องใช้ “ข้าวขี้ตมใหญ่” ส่วนข้าวที่ชื่อว่า “อีหนอนน้อย” เขาจะนำมาทำข้าวเกรียบว่าวกัน ข้าวชื่อแปลกๆ แบบนี้ไม่ค่อยเคยได้ยินใช่ไหมล่ะ แต่บอกอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องไปหาขนมจีนที่ทำจากข้าวพันธุ์นี้แถวตลาดใกล้บ้านหรอกนะครับ มันคงจะหายาก ก็พันธุ์ข้าวพื้นบ้านหายไปจากหมู่บ้านตั้งเยอะแล้ว เดี๋ยวนี้ปลูกกันแต่พันธุ์ที่ผสมขึ้นใหม่จากห้องทดลอง

      จริงๆ แล้วข้าวพันธุ์พื้นเมืองเรานั้นน่าทึ่งมากนะครับ นอกจากมีหลายชนิดจนนับไม่ถ้วนแล้ว เขาคุยกันว่า ข้าวบางชนิดมีฤทธิ์ในการคุมวัชพืชและแมลงในตัวของมันเอง ซึ่งจะเป็นข้าวที่ไม่ให้ผลผลิตมาก อย่างข้าวขี้ตมใหญ่ที่ไว้ทำสาโทรสชาติดีนี่ก็ใช่ ชาวบ้านเขาจะปลูกไว้นิดหน่อยไว้ล่อหนอนและแมลง จะได้ไม่รบกวนข้าวแปลงอื่น

     ส่วนใหญ่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ จะสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติ พึ่งตนเองได้แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเลย ต่างจากพันธุ์ข้าวใหม่ๆ จากกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ที่มักจะมาพร้อมกับถุงปุ๋ย กระป๋องยา และต้นทุนราคาสูง ตอนปีแรกๆ ก็ยังกินอร่อยอยู่พอสักปีสองปีก็จะกลายพันธุ์ เป็นข้าวแข็งๆ กินไม่อร่อย

     ก็เพราะว่าเป็นข้าวที่มาจากห้องทดลองไงครับ ไม่ได้เกิดและปรับตัวตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ทีนี้ถ้าใครอยากจะปลูกข้าวพันธุ์นั้นต่อ ก็ต้องไปเสียเงินซื้อพันธุ์ข้าวใหม่ จะนำข้าวที่ปลูกได้มาเป็นเชื้อพันธุ์ก็ไม่ได้ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ชาวนาเป็นหนี้ท่วมตัวได้ยังไง ก็ต้องซื้อทั้งพันธุ์ข้าว ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง แถมเดี๋ยวนี้ยังต้องทำงานหนักกว่าเดิม ปลูกข้าวตั้งปีละ ๓ ครั้ง แต่ที่สุดแล้วหลายคนก็ต้องทิ้งบ้านหิ้วกระเป๋าเข้ามาหาเงินในเมืองอยู่ดี นี่ยังไม่นับรวมการรุกคืบของบริษัทค้าขายทางการเกษตร ที่เริ่มหาช่องทางธุรกิจจากการขายและผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวบางชนิดอีกนะครับ

     ว่าที่ ร.ต.บัวพิตย์ พิทยาทรานุวัฒ ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน (ม.พศช.) กล่าวทิ้้งท้ายไว้ว่า...

     ‘พันธุ์ข้าวพื้นเมืองดาบวิชัย๑’ อันเป็น ‘มูลมัง’ หรือมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ถูกรื้อฟื้นกลับคืนมา ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเองของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง จ.ศรีสะเกษ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน (ม.พศช.) เกิดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในการพัฒนาและอนุรักษ์ฐานทรัพยากร อาหารของชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ

     จากผลการวิจัยพันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ มีคุณค่าอาหารสูง ป้องกันและรักษาโรคบางชนิดได้ ผลผลิตสูง หอมนุ่มรับประทาน แต่ละสายพันธุ์ก็ให้คุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไป มีเปอร์เซ็นต์ของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินเอในสัดส่วนที่มากกว่าข้าว ทั่วไป บางสายพันธุ์ยังให้วิตามินอีสูงกว่าข้าวทั่วไปถึง ๒๖ เท่า มีธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวกล้องทั่วไป ๒-๓ เท่า

     การใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ ที่ผ่านการพัฒนาและรักษาสืบทอดกันมายาวนานเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการพึ่งพา ปัจจัยภายนอก ให้ผลผลิตที่ดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายและปัจจัยการผลิตที่ไม่จำเป็นลง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน…

     พบกับเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ ตอนต่อไป ได้ที่นี่ : มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน (ม.พศช.)