มหัศจรรย์ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ 
คุณค่าทางโภชนาการของสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น


นายชวลิตร ธรสาธิตกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เชิญชวนพี่น้องร่วมอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ “พันธุ์ข้าวดาบวิชัย๑”

ทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และหันมาศึกษาข้อมูลทางโภชนาการ เพื่อเข้าถึงประโยชน์ของอาหารที่กำลังรับประทาน วันนี้มูลนิธิ พศช. ได้เดินทางมาถึงอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นอำเภอที่มีความแห้งแล้งมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นจุดกำเนิดของ นักสู้ผู้สร้างป่า : ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ตำรวจที่เป็นที่รู้จักจากการปลูกต้นไม้ทุกวัน จนกว่าจะไม่มีแรงจะปลูก และเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง “พันธุ์ข้าวดาบวิชัย๑”

 
"ข้าว" ถือเป็นปัจจัยหลักที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเมล็ดต้องลงมือปักดำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เคราะห์ซ้ำยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ปัญหาปุ๋ยหรือสารเคมีราคาสูงขึ้น ฯลฯ ‘การปลูกข้าว’ ไม่ใช่ปลูกเพื่อดำรงชีวิตเหมือนเช่นในอดีต แต่ปลูกเพื่อสนองต่อระบบเศรษฐกิจ ข้าวดีๆ ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ จึงไม่ตกถึงท้องของคนในประเทศโดยตรง แต่ถูกส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จึงเกิดแนวคิดอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองขึ้นมา


 ตำบลตูมกับการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน
นายชวลิตร ธรสาธิตกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ นักบริหารและนักพัฒนาคนรุ่นใหม่ไฟแรง ได้ถ่ายทอดแนวคิดว่า “เมื่อปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ หลังจากที่ได้รวบรวมสมาชิกที่สนใจร่วมมือกับ ร...วิชัย สุริยุทธ และองค์กร NGOs โดยมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน(.พศช.) เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งก็ได้ลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง และในที่สุดจึงเกิดโครงการเกษตรอินทรีย์ และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ”

ทางชุมชนเริ่มสำรวจพันธุ์ข้าวพื้นเมืองตามครัวเรือนของชาวนาในตำบล  ปรากฏว่ามีเพียงพันธุ์ข้าวจ้าวลอย,ข้าวเม็ดสั้น, ข้าว กข ๑๕ หรือข้าวหอมมะลิที่หลงเหลืออยู่ในยุ้งฉาง และผลของการสำรวจทำให้เกิดแนวคิดจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน ‘พันธุกรรมข้าว’ จากครัวเรือน สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ‘ข้าวพื้นเมือง’ จากหลากหลายพื้นที่ถูกรวบรวมเพื่อเพาะขยายพันธุ์ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ กลายเป็นอีกเมืองแห่งการอนุรักษ์พันธุ์กรรมข้าวพื้นเมืองฯ กระจายอยู่ในยุ้งฉางของเกษตรกรหลายๆ หมู่บ้าน และยังมีการกระบวนการผลิตแบบปลอดสารพิษ ‘ข้าว’ จากมือชาวนาแห่งนี้มีความปลอดภัยสูง และราคาถูกเพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงคุณค่าอย่างแท้จริง “จังหวัดศรีสะเกษ” จึงเป็นแหล่งรวมข้าวพื้นเมืองฯ “พันธุ์ข้าวดาบวิชัย๑”แห่งเดียวในประเทศไทย

 
หลังการรวบรวมสายพันธุ์จากหลากหลายท้องถิ่นในพื้นที่  ก็เข้าสู่กระบวนการปรับวิถีการผลิตที่เป็นรูปธรรม โดยการสร้างแปลงนาสาธิต นำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ มาปลูกในระบบอินทรีย์ เลิกใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และสร้างคันนาใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ปรับนาให้มีกระทง สร้างแหล่งน้ำในไร่นา พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ ถูกหวานลงในแปลงนาสาธิต เมื่อได้ผลผลิตจึงเกิดการแจกจ่ายตามครัวเรือน สู่กระบวนการอนุรักษ์มาจนถึงปัจจุบัน

ฝ่ายรับรองมาตรฐาน โดยคณะกรรมการโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองฯ จะทำการตรวจแปลงนาของชาวบ้านตามมาตรฐานของระบบอินทรีย์ทุกขั้นตอน  และตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวตามเกรด เช่น เกรดเอต้องเป็นเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อาจเจือปนได้เพียง ๓-๖ เมล็ด ใน ๑,๐๐๐ กรัม หรือเกรดบีต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ หรืออาจปนได้เพียง ๕-๑๐ เมล็ด ใน ๑,๐๐๐ กรัม เป็นต้น

ข้าวพื้นเมืองคุณค่าที่ควรอนุรักษ์
จากการศึกษา ‘พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ’ สามารถแบ่งลักษณะของข้าวตามช่วงอายุ เช่น อายุเบา อายุปานกลาง อายุหนัก และยังมีคุณสมบัติเฉพาะสายพันธุ์ที่ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อน้ำท่วม และข้าวพื้นเมืองยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวเจ้าแดง ข้าวเจ้าเหลือง มีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
 
"ข้าว" ที่ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีในการผลิตทุกขั้นตอน  เพื่อให้ผู้บริโภคระดับล่างได้เข้าถึงคุณค่าทางโภชนาการในราคาแบบชาวบ้าน และเน้นในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนา ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ร่วมกับมูลนิธิฯ กำลังวิจัยทางการตลาด และเสาะหา ‘พันธุ์ข้าวพื้นเมืองฯ’ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิการผลิตข้าวของเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นได้แล้ว ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูดสุดอีกด้วย  จึงเป็นที่มาของการพัฒนาพันธุ์และคัดสรรคุณภาพข้าว  ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งทำขนมจีนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่ให้ผลผลิตสูงในสภาพแวดล้อมเหมาะสมและมีการจัดการดูแลที่ดี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ทำให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีการสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อไป...